GMOs คืออะไร และปลอดภัยไหม?

Worachet Engineering
5 min readFeb 1, 2023

--

(sci) วิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม

ขอบคุณรูปภาพของ Tyler Yeo จาก https://flic.kr/p/Sg4fWY

สารบัญเนื้อหา

สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมคืออะไร

  • ความหมายของจีเอ็มโอ
  • การตัดสายดีเอ็นเอและการถ่ายโอนยีน
  • ตัวอย่างสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม

ประโยชน์ของการดัดแปลงพันธุกรรม

  • ทนแมลงศัตรูพืช
  • ทนยาฆ่าวัชพืช
  • ทนโรค
  • ทนความเย็น
  • ทนแล้งและทนเค็ม
  • ช่วยแก้ปัญหาการขาดสารอาหาร
  • ช่วยบำบัดสิ่งแวดล้อม

การรับรองความปลอดภัยจากประชาคมนักวิทยาศาสตร์

สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมคืออะไร

ความหมายของจีเอ็มโอ

จีเอ็มโอ (Geneically modified organisms: GMOs) หมายถึงสิ่งมีชีวิตใด ๆ ที่ถูกดัดแปลงสารพันธุกรรมโดยมนุษย์เพื่อวัตถุประสงค์ใด ๆ ก็ตาม โดยทั่วไปแล้วลำดับเบสบนสายดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตนั้นจะถูกนำออกไปแล้วจะถูกแทนที่ด้วยลำดับเบสจากสิ่งมีชีวิตตัวอื่นซึ่งอาจเป็นสิ่งมีชีวิตสปีชีส์เดียวกันหรือต่างอาณาจักรก็ได้ สิ่งมีชีวิตจีเอ็มโอเกิดจากการผลิตของมนุษย์เท่านั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เองในธรรมชาติได้

ดีเอ็นเอบางส่วนของสิ่งมีชีวิตที่ต้องการดัดแปลงพันธุกรรมถูกนำออกไปแล้วถูกแทนที่ด้วยบางส่วนของดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตตัวอื่น กำเนิดสิ่งมีชีวิตจีเอ็มโอ (ขอบคุณรูปภาพจาก Wikipedia)
แมวตัวนี้ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้เรืองแสงในที่มืดได้ด้วยยีนจากแมงกะพรุนเรืองแสง ยีนพิเศษนี้ช่วยให้นักวิจัยสามารถศึกษาระบบภูมิคุ้มกันในแมวได้ (ขอบคุณรูปภาพและเนื้อหาจาก BBC News. 2022. Glowing cats shed light on Aids. [online] Available at: <https://www.bbc.com/news/science-environment-14882008> [Accessed 3 September 2022].)

การตัดสายดีเอ็นเอและการถ่ายโอนยีน

การตัดสายดีเอ็นเอด้วยเอนไซม์ตัดจำเพาะ (restriction enzyme)

เนื่องจากเราต้องการนำดีเอ็นเอบางส่วนของสิ่งมีชีวิตที่มีคุณสมบัติตามต้องการ เข้ามาใส่ในสิ่งมีชีวิตที่เราต้องการดัดแปลงพันธุกรรม เราจึงต้องตัดสายดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตนั้นเพื่อเอาเฉพาะส่วนของดีเอ็นเอที่แสดงคุณสมบัติพิเศษ การตัดสายดีเอ็นเอสามารถทำได้โดยใช้เอ็นไซม์ตัดจำเพาะ (restriction enzyme) ซึ่งมีเอนไซม์ตัดจำเพาะหลายชนิด แต่ละชนิดจะมีความสามารถในการตัดสายดีเอ็นเอในตำแหน่งต่าง ๆ กัน เราสามารถเลือกใช้เอนไซม์ตัดจำเพาะได้อย่างหลากหลาย ตามลักษณะของสายดีเอ็นเอที่เราต้องการ

รูปภาพแสดงการเข้าคู่กันของเบสบนสายดีเอ็นเอ (ขอบคุณรูปภาพจาก Encyclopædia Britannica)

ตัวอย่างการตัดสายดีเอ็นเอด้วยเอนไซม์ตัดจำเพาะ EcoRI

ส่วนของสายดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตที่ต้องการตัดสายดีเอ็นเอ

5'GAATTC
3'CTTAAG

การตัดสายดีเอ็นเอกลายเป็นสองสาย

5'---G     AATTC---3'
3'---CTTAA G---5'

(ขอบคุณเนื้อหาจาก Wikipedia)

ทั้งนี้หากใช้เอนไซม์ตัดจำเพาะตัดสายดีเอ็นเออีกครั้ง ก็สามารถได้ส่วนของดีเอ็นเอที่ต้องการออกมาได้ เราจะนำส่วนของดีเอ็นเอที่ต้องการนี้ถ่ายโอนเข้าไปในสิ่งมีชีวิตเป้าหมายที่ต้องการดัดแปลงพันธุกรรม โดยมีหลากหลายวิธี

ตัวอย่างวิธีการถ่ายโอนยีน

ตัวอย่างวิธีการถ่ายโอนยีน: A. Bacterial transformation, B. Particle bombardment, C. Electroporation (ขอบคุณรูปภาพและเนื้อหาจาก Ozyigit, I.I., Can, H. & Dogan, I. Phytoremediation using genetically engineered plants to remove metals: a review. Environ Chem Lett 19, 669–698 (2021). https://doi.org/10.1007/s10311-020-01095-6)

A. Bacterial transformation

เทคนิคนี้คือการนำส่วนของดีเอ็นเอที่ถูกตัดมาเข้ามาใส่ในแบคทีเรีย จากนั้นจะให้แบคทีเรียที่มีดีเอ็นเอที่ต้องการนั้นเข้าไปสู่สิ่งมีชีวิตเป้าหมายที่จะถูกดัดแปลงพันธุกรรม ดีเอ็นเอที่มีคุณลักษณะพิเศษนั้นจะถูกถ่ายโอนจากแบคทีเรียเข้าสู่สิ่งมีชีวิตเป้าหมาย หากการดัดแปลงพันธุกรรมสำเร็จจะได้สิ่งมีชีวิตจีเอ็มโอ

B. Particle bombardment

เทคนิคนี้คือการนำส่วนของดีเอ็นเอที่มีคุณลักษณะพิเศษเคลือบบนเม็ดโลหะ เช่น ทังสเตนหรือทองคำ ที่มีขนาดเล็กประมาณ 1–2 ไมโครเมตร แล้วยิงเข้าไปในเนื้อเยื่อสิ่งมีชีวิตเป้าหมายที่ต้องการดัดแปลงพันธุกรรมด้วยความเร็วสูง ดีเอ็นเอที่เข้าไปในเซลล์สิ่งมีชีวิตเป้าหมายนั้นจะรวมตัวกับดีเอ็นเอเดิม ได้เป็นสิ่งมีชีวิตจีเอ็มโอ

C. Electroporation

เทคนิคนี้คือการใช้กระแสไฟฟ้าอย่างอ่อนกระตุ้นให้เยื่อหุ้มเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเป้าหมายที่ต้องการดัดแปลงพันธุกรรมเกิดรูขึ้น จากนั้นจึงใส่ดีเอ็นเอที่มีคุณลักษณะพิเศษเข้าไปในสิ่งมีชีวิตเป้าหมายผ่านรูเหล่านั้น เมื่อทำเสร็จก็จะใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นให้ปิดรู ดีเอ็นเอที่เข้าไปในเซลล์จะรวมตัวกับดีเอ็นเอเดิม ได้เป็นสิ่งมีชีวิตจีเอ็มโอ

นอกจากนี้ยังมีวิธีการถ่ายโอนยีนอีกมากมาย

ตัวอย่างสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม

โดยปกติอาหารที่หมูกินประกอบด้วยฟอสฟอรัส เมื่อหมูกินอาหารนั้นเสร็จจะให้ของเสียที่มีฟอสเฟตสูง ซึ่งฟอสเฟตนี้จะเป็นอาหารของจุลินทรีย์ในแหล่งน้ำ ทำให้เกิดการเจริญเติบโตที่มากเกินไปของจุลินทรีย์นั้น เกิดปัญหา algae blooms ซึ่งทำร้ายสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง หมูที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมสามารถย่อยแร่ธาตุฟอสฟอรัสในอาหารได้ดีขึ้น ลดฟอสเฟตในของเสีย ลดปัญหา algae blooms ได้

ขอบคุณรูปภาพและเนื้อหาจาก Popular Science. 2022. Enviropig: A Bioengineered Pig That Excretes Fewer Pollutants. [online] Available at: <https://www.popsci.com/science/article/2010-09/greener-bacon/> [Accessed 3 September 2022].
ปัญหา algae blooms ที่ทะเลชิงเต่า ประเทศจีน สาหร่ายที่โตเยอะผิดปกติจากธาตุอาหารฟอสเฟตที่มีมากเกินไป ปิดบังแสงไม่ให้ลงไปใต้น้ำ ทำให้แหล่งน้ำขาดออกซิเจน สิ่งมีชีวิตในทะเลตายเป็นจำนวนมาก (ขอบคุณรูปภาพและเนื้อหาจาก Tone, S., 2022. Qingdao Sea Turns Green Amid Worst Algae Bloom in Decades. [online] #SixthTone. Available at: <https://www.sixthtone.com/news/1007914/qingdao-sea-turns-green-amid-worst-algae-bloom-in-decades-> [Accessed 3 September 2022].)

ประโยชน์ของการดัดแปลงพันธุกรรม

ในบทความนี้จะเน้นถึงประโยชน์ของการดัดแปลงพันธุกรรมในพืชเป็นหลัก

ทนแมลงศัตรูพืช

แมลงศัตรูพืชหลายชนิดทำลายผลิตผลทางการเกษตรอย่างหนัก ทำให้เกษตรกรทั่วโลกสูญเสียรายได้มหาศาล มากไปกว่านั้นยังทำให้ปัญหาการขาดแคลนอาหารในประเทศด้อยพัฒนาหนักขึ้น โดยทั่วไปแล้วเกษตรกรมักใช้ยาฆ่าแมลงในการกำจัดศัตรูพืช ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำ และสุขภาพของมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์จึงได้ดัดแปลงพันธุกรรมของพืชเกษตรเพื่อให้มีความทนต่อแมลงศัตรูพืช ตัวอย่างเช่น ข้าวโพด Bt ที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมสามารถลดการใช้ยาฆ่าแมลง ซึ่งทำให้ต้นทุนการเกษตรต่ำลง ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศด้อยพัฒนา

ภาพ b แสดงการเปรียบเทียบความทนต่อแมลงของข้าวโพดปกติและข้าวโพด Bt (ขอบคุณรูปภาพและเนื้อหาจาก Hellmich, R. L. & Hellmich, K. A. (2012) Use and Impact of Bt Maize. Nature Education Knowledge 3(10):4)

ทนยาฆ่าวัชพืช

การปลูกพืชเกษตรบางชนิดมีวัชพืชที่ยากและแพงในการกำจัดด้วยวิธีทั่วไปอย่างการไถพรวน เกษตรกรจึงต้องใช้ยาฆ่าวัชพืชในการกำจัด โดยที่ยาฆ่าวัชพืชส่วนใหญ่มีความแรงในการกำจัดวัชพืชสูง เกษตรกรจึงต้องสเปรย์ยาฆ่าวัชพืชอย่างระมัดระวังมากที่สุดเพื่อไม่ให้ยาฆ่าวัชพืชโดยพืชเกษตรซึ่งจะทำให้เสียหายขายไม่ได้ วิธีที่ทำกันนี้กินเวลาและต้นทุนอย่างมาก อย่างไรก็ตามพืชเกษตรที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้ทนยาฆ่าวัชพืชสามารถทำให้การเกษตรสะดวกขึ้นมหาศาล โดยเกษตรกรสามารถฉีดยาฆ่าวัชพืชที่แรงลงบนพืชเกษตรโดยตรงได้เลย ทำให้ต้นทุนการเกษตรต่ำลงมาก

มากไปกว่านั้นการดัดแปลงพันธุกรรมให้พืชเกษตรทนยาฆ่าวัชพืชได้นั้นสามารถลดมลพิษสารเคมีจากการใช้ยาฆ่าวัชพืชได้ในภาพรวม กล่าวคือบริษัทมอนซานโตได้จดสิทธิบัตรสารไกลโฟเสตและใช้มันเป็นยาฆ่าวัชพืชที่มีประสิทธิภาพสูงในยี่ห้อ Roundup บริษัทยังได้จดสิทธิบัตรพืชเกษตรที่ได้ดัดแปลงพันธุกรรมให้สามารถทนต่อไกลโฟเสตได้ในยี่ห้อ Roundup Ready Crops ซึ่งงานวิจัยได้ระบุว่ายาฆ่าวัชพืชและพืชเกษตรของมอนซานโตสามารถช่วยให้เกษตรกรสะดวกและประหยัดเงินได้มาก อีกทั้งยังช่วยลดมลพิษทางเคมีที่มาจากการใช้ยาฆ่าวัชพืชยี่ห้อคู่แข่งได้เยอะด้วย

Kaufman, P.B., Chang, S.C., Kirakosyan, A. (2009). Risks and Benefits Associated with Genetically Modified (GM) Plants. In: Recent Advances in Plant Biotechnology. Springer, Boston, MA. https://doi.org/10.1007/978-1-4419-0194-1_13

งานวิจัยตลาดกับเกษตรกร 452 คน ทั่ว 19 รัฐในอเมริการะบุว่าหลังจากที่ถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมของมอนซานโตเข้าตลาดในปี 1996 ต้นทุนการกำจัดวัชพืชลดลงถึง 23% (ขอบคุณรูปภาพและเนื้อหาจาก Dill, G.M. (2005), Glyphosate-resistant crops: history, status and future. Pest. Manag. Sci., 61: 219–224. https://doi-org.chula.idm.oclc.org/10.1002/ps.1008)
ปัจจุบันมอนซานโตได้ถูกซื้อกิจการโดยบริษัท Bayer ซึ่งเชี่ยวชาญด้านยาและไบโอเทคสัญชาติเยอรมัน รูปภาพนี้คือสำนักงานใหญ่ของแผนกเกษตรกรรม ที่เมือง Monheim (ขอบคุณรูปภาพจาก Bayer AG)

ทนโรค

ไวรัส เชื้อรา และแบคทีเรียก่อให้เกิดโรคร้ายแรงต่อพืชเกษตร ปัจจุบันนักชีววิทยากำลังพัฒนาสายพันธุ์พืชเกษตรที่ดัดแปลงพันธุกรรมให้สามารถทนและรอดชีวิตจากโรคร้ายแรงเหล่านั้นได้

รูปภาพข้างล่างนี้แสดงการเปรียบเทียบการทนต่อโรคต่าง ๆ ของพืช โดยรูปด้านซ้ายเป็นพืชปกติที่ถูกโรคทำร้าย ส่วนรูปด้านขวาเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่สามารถทนต่อโรคได้ โดยแต่ละรูปมีคำอธิบายดังนี้

a. มันฝรั่งที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้ทนต่อ Phytophthora infestans ซึ่งพบได้ในประเทศยูกันดาและเคนยา

b. มะเขือเทศที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้ทนต่อ Ralstonia solanacearum ซึ่งทำให้เกิดโรคเหี่ยว

c. มะเขือเทศดัดแปลงพันธุกรรมสายพันธุ์ Tomelo สามารถทนโรคเชื้อราบนใบ (powdery mildew) ได้โดยการดัดแปลงยีน mlo

d. โปรตีนด้านภูมิต้านทาน Hrap และ Pflp จากพริกหยวกช่วยให้กล้วยทนต่อ Xanthomonas ซึ่งก่อให้เกิดโรคเหี่ยวในกล้วย

e. โปรตีนจากส่วนห่อหุ้มของไวรัสช่วยให้มะละกอทนต่อโรคจากไวรัส Papaya ringspot ในฮาวาย

ขอบคุณรูปภาพและเนื้อหาจาก van Esse, H.P., Reuber, T.L. and van der Does, D. (2020), Genetic modification to improve disease resistance in crops. New Phytol, 225: 70–86. https://doi.org/10.1111/nph.15967

ทนความเย็น

ปลาในเขตหนาวเย็นมียีนที่ทำให้มันทนต่ออุณหภูมิเยือกแข็งได้ นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามถ่ายโอนยีนจากปลาเหล่านี้ให้กับพืชเกษตรอย่างมันฝรั่งและฝิ่น เพื่อให้เกษตรกรสามารถปลูกได้ในเขตหนาวเย็น

ขั้นตอนการถ่ายโอนยีนทนความเย็นจากปลาเข้ามาในมะเขือเทศ (ขอบคุณรูปภาพและเนื้อหาจาก Singh A, Kumar V, Poonam, et al. Genetically modified food: a review on mechanism of production and labeling concern. Adv Plants Agric Res. 2014;1(4):121–127. DOI: 10.15406/apar.2014.01.00020)

ทนแล้งและทนเค็ม

ด้วยประชากรโลกกำลังจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในไม่กี่สิบปีข้างหน้า เกษตรกรจำเป็นต้องปลูกพืชเกษตรในพื้นที่ที่แย่ลง อย่างเช่น แห้งแล้งหรือเค็มมากขึ้น ดังนั้นพืชเกษตรจำเป็นต้องถูกดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้เติบโตในพื้นที่อย่างนั้นและเป็นอาหารเลี้ยงประชากรโลกได้

การเปรียบเทียบความยาวรากของพืชปกติ (Wild-type: WT) กับพืชดัดแปลงพันธุกรรม A. ในสภาพแวดล้อมที่รุนแรง C-E. กราฟความยาวรากของพืชปกติกับพืชดัดแปลงพันธุกรรมในสภาพแวดล้อมที่รุนแรงต่าง ๆ (ขอบคุณรูปภาพและเนื้อหาจาก Ma X-J, Fu J-D, Tang Y-M, Yu T-F, Yin Z-G, Chen J, Zhou Y-B, Chen M, Xu Z-S and Ma Y-Z (2020) GmNFYA13 Improves Salt and Drought Tolerance in Transgenic Soybean Plants. Front. Plant Sci. 11:587244. doi: 10.3389/fpls.2020.587244)

ช่วยแก้ปัญหาการขาดสารอาหาร

ประชากรในประเทศด้อยพัฒนาอย่างเช่นแอฟริกา ประสบปัญหาขาดแคลนสารอาหารเนื่องจากมีผลิตผลทางการเกษตรไม่หลากหลาย นักวิทยาศาสตร์จึงได้ดัดแปลงพันธุกรรมพันธุ์ข้าวท้องถิ่นซึ่งพวกเขานิยมบริโภคให้มีปริมาณเบตาแคโรทีนมากขึ้น (เรียกข้าวสายพันธุ์นี้ว่า Golden rice) โดยเบตาแคโรทีนจะถูกเปลี่ยนเป็นวิตามินเอในร่างกาย แก้ปัญหาการขาดแคลนสารอาหารในแอฟริกาและประเทศด้อยพัฒนาอื่น ๆ ได้

กราฟโครมาโทแกรมแสดงปริมาณสารแคโรทีนอยด์แต่ละชนิดจาก Golden rice โดยแต่ละ peak เป็นของสาร 1, lutein; 2, anhydrolutein; 3, zeaxanthin; 4, cryptoxanthin; 5, 13-cis β-carotene; 6, all-trans β-carotene; 7, 9-cis β-carotene (ขอบคุณรูปภาพและเนื้อหาจาก Tang G, Qin J, Dolnikowski GG, Russell RM, Grusak MA. Golden Rice is an effective source of vitamin A. Am J Clin Nutr. 2009 Jun;89(6):1776–83. doi: 10.3945/ajcn.2008.27119. Epub 2009 Apr 15. PMID: 19369372; PMCID: PMC2682994.)

ช่วยบำบัดสิ่งแวดล้อม

พืชบางชนิดสามารถช่วยบำบัดมลพิษในดิน น้ำใต้ดิน หรืออากาศได้ เราสามารถดัดแปลงพันธุกรรมของพืชเหล่านี้ให้สามารถบำบัดอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้

รูปภาพข้างล่างนี้แสดงสารเคมีต่าง ๆ ที่สามารถใช้พืชบำบัดได้ โดยสารเคมีแต่ละชนิดสามารถบำบัดได้ดังนี้

1.Trinitrotoluene (TNT) และ Royal Demolition Explosive (RDX) สามารถบำบัดโดยพืชที่ได้รับยีน xpl A/B และ nfsI จากแบคทีเรีย

2. Trichloroethylene (TCE) และสารระเหยอื่นสามารถบำบัดโดยพืชที่ได้รับยีน CYP2E1 จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

4. ยีน CYP2B6 หรือ gamma-glutamylcysteine synthetase จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมช่วยให้พืชบำบัดยาฆ่าวัชพืชได้ดีขึ้น

ขอบคุณรูปภาพและเนื้อหาจาก Doty, S.L. (2008), Enhancing phytoremediation through the use of transgenics and endophytes. New Phytologist, 179: 318–333. https://doi.org/10.1111/j.1469-8137.2008.02446.x

การรับรองความปลอดภัยจากประชาคมนักวิทยาศาสตร์

ประชาคมนักวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานที่มีชื่อเสียงทั่วโลก เช่น The US Food and Drug Administration, World Health Organization, Food and Agriculture Organization of the UN, European Commission, the US National Academies of Science, American Medical Association เป็นต้น ยืนยันว่าพืชและเนื้อสัตว์จีเอ็มโอปลอดภัย สามารถรับประทานได้ ส่งผลดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากกว่าพืชทั่วไปที่ไม่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม และประเด็นเรื่องการหลุดรั่วเป็น alien species ไม่น่ากังวลเนื่องจากกระบวนการผลิตสิ่งมีชีวิตจีเอ็มโอมีความเข้มงวดอยู่แล้ว

อ่านคำการันตีความปลอดภัยเพิ่มเติมได้ที่:

Kollipara, P. (2021, October 27). Proof he’s the science guy: Bill Nye is changing his mind about gmos. The Washington Post. Retrieved September 3, 2022, from https://www.washingtonpost.com/news/energy-environment/wp/2015/03/03/proof-hes-the-science-guy-bill-nye-is-changing-his-mind-about-gmos/

Los Angeles Times. 2022. Op-Ed: Chipotle’s junk science on GMOs. [online] Available at: <https://www.latimes.com/nation/la-oe-0430-sexton-chipotle-gmo-ban-20150430-story.html> [Accessed 3 September 2022].

Freedman DH. Are engineered foods evil? Sci Am. 2013 Sep;309(3):80–5. doi: 10.1038/scientificamerican0913–80. PMID: 24003560.

Klümper W, Qaim M (2014) A Meta-Analysis of the Impacts of Genetically Modified Crops. PLoS ONE 9(11): e111629. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0111629

2022. [online] Available at: <http://www.reflector-online.com/opinion/article_ed53cb1e-8e72-11eb-ad2a-0b7ce397d4d6.html> [Accessed 3 September 2022].

ขอบคุณรูปภาพจาก Genetic Literacy Project

วรเชษฎฐ์ สุทธิสมิทธิ์

นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CU INTANIA 106

ติดตามผลงานของผมได้ที่

FB Page: Worachet Engineering

IG: @woracheteng

ขอบคุณครับ

บรรณานุกรม

BBC News. 2022. Glowing cats shed light on Aids. [online] Available at: <https://www.bbc.com/news/science-environment-14882008> [Accessed 3 September 2022].

Ozyigit, I.I., Can, H. & Dogan, I. Phytoremediation using genetically engineered plants to remove metals: a review. Environ Chem Lett 19, 669–698 (2021). https://doi.org/10.1007/s10311-020-01095-6

Popular Science. 2022. Enviropig: A Bioengineered Pig That Excretes Fewer Pollutants. [online] Available at: <https://www.popsci.com/science/article/2010-09/greener-bacon/> [Accessed 3 September 2022].

Tone, S., 2022. Qingdao Sea Turns Green Amid Worst Algae Bloom in Decades. [online] #SixthTone. Available at: <https://www.sixthtone.com/news/1007914/qingdao-sea-turns-green-amid-worst-algae-bloom-in-decades-> [Accessed 3 September 2022].

Hellmich, R. L. & Hellmich, K. A. (2012) Use and Impact of Bt Maize. Nature Education Knowledge 3(10):4

Kaufman, P.B., Chang, S.C., Kirakosyan, A. (2009). Risks and Benefits Associated with Genetically Modified (GM) Plants. In: Recent Advances in Plant Biotechnology. Springer, Boston, MA. https://doi.org/10.1007/978-1-4419-0194-1_13

Dill, G.M. (2005), Glyphosate-resistant crops: history, status and future. Pest. Manag. Sci., 61: 219–224. https://doi-org.chula.idm.oclc.org/10.1002/ps.1008

van Esse, H.P., Reuber, T.L. and van der Does, D. (2020), Genetic modification to improve disease resistance in crops. New Phytol, 225: 70–86. https://doi.org/10.1111/nph.15967

Singh A, Kumar V, Poonam, et al. Genetically modified food: a review on mechanism of production and labeling concern. Adv Plants Agric Res. 2014;1(4):121–127. DOI: 10.15406/apar.2014.01.00020

Ma X-J, Fu J-D, Tang Y-M, Yu T-F, Yin Z-G, Chen J, Zhou Y-B, Chen M, Xu Z-S and Ma Y-Z (2020) GmNFYA13 Improves Salt and Drought Tolerance in Transgenic Soybean Plants. Front. Plant Sci. 11:587244. doi: 10.3389/fpls.2020.587244

Tang G, Qin J, Dolnikowski GG, Russell RM, Grusak MA. Golden Rice is an effective source of vitamin A. Am J Clin Nutr. 2009 Jun;89(6):1776–83. doi: 10.3945/ajcn.2008.27119. Epub 2009 Apr 15. PMID: 19369372; PMCID: PMC2682994.

Doty, S.L. (2008), Enhancing phytoremediation through the use of transgenics and endophytes. New Phytologist, 179: 318–333. https://doi.org/10.1111/j.1469-8137.2008.02446.x

Kollipara, P. (2021, October 27). Proof he’s the science guy: Bill Nye is changing his mind about gmos. The Washington Post. Retrieved September 3, 2022, from https://www.washingtonpost.com/news/energy-environment/wp/2015/03/03/proof-hes-the-science-guy-bill-nye-is-changing-his-mind-about-gmos/

Los Angeles Times. 2022. Op-Ed: Chipotle’s junk science on GMOs. [online] Available at: <https://www.latimes.com/nation/la-oe-0430-sexton-chipotle-gmo-ban-20150430-story.html> [Accessed 3 September 2022].

Freedman DH. Are engineered foods evil? Sci Am. 2013 Sep;309(3):80–5. doi: 10.1038/scientificamerican0913–80. PMID: 24003560.

Klümper W, Qaim M (2014) A Meta-Analysis of the Impacts of Genetically Modified Crops. PLoS ONE 9(11): e111629. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0111629

2022. [online] Available at: <http://www.reflector-online.com/opinion/article_ed53cb1e-8e72-11eb-ad2a-0b7ce397d4d6.html> [Accessed 3 September 2022].

--

--

Worachet Engineering
Worachet Engineering

Written by Worachet Engineering

วรเชษฎฐ์ สุทธิสมิทธิ์ นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CU INTANIA 106

No responses yet